12 เรื่องที่คนใช้รถต้องรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.

ไม่ว่าคุณจะขับรถมอเตอร์ไซค์ หรือขับรถยนต์ เราจะต้องมีประกันภัยภาคบังคับ พ.ร.บ. หรือที่มีชื่อเต็มยาว ๆ ว่า ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำเป็นประจำทุกปี หลังจากวันที่ 1 เมษายน 2563 สมาคมประกันวินาศภัยไทยร่วมกับสำนักงาน คปภ. ปรับเพิ่มความคุ้มครองประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มวงเงินคุ้มครองสูงสุดกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 บาทเป็น 500,000 บาท

“พ.ร.บ. เป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมีไว้
คุ้มครองต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกายและผู้ประสบภัยจากรถ”

อาจจะเกิดความสงสัยว่า เราต่อ พ.ร.บ. ทุก ๆ ปีมีอะไรที่เราต้องรู้บ้างนะ ? กับ 12 เรื่องที่คนใช้รถต้องรู้เกี่ยวกับพ.ร.บ. รถเอาไว้ และเพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับพ.ร.บ.รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่น้องสมหวัง สรุปไว้ได้เลยครับผม

1. ต้องต่อพ.ร.บ. ทุกปีห้ามขาด!!

พ.ร.บ. รถยนต์ และพ.ร.บ.จักรยานยนต์เป็นประกันภาคบังคับมีอายุ 1 ปี ซึ่งเราจะต้องต่อทุกปีมิให้ขาด เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นครับ ในเอกสารพ.ร.บ. จะระบุข้อมูล “ระยะเวลาเอาประกันภัย” เอาไว้ชัดเจนครับ

2. ไม่ต่อพ.ร.บ. เราจะต่อภาษีรถไม่ได้

เนื่องจาก พ.ร.บ. เป็นเอกสารสำคัญในการต่อภาษีรถยนต์และภาษีรถมอเตอร์ไซค์ เราจะต้องต่อพ.ร.บ. ก่อนต่อภาษี ดังนั้น ถ้าเราไม่ต่อพ.ร.บ.ให้เสร็จสรรพก็จะไม่สามารถต่อภาษีได้นั้นเอง !!

  • หากรถยนต์หรือมอไซค์ที่ไม่ได้เสียภาษีตามเวลาที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับเดือนละ 1% พร้อมกับชำระภาษีย้อนหลังด้วยนะจ้ะ
  • กรณีขาดต่อภาษีรถนานเกิน 3 ปี รถของเราจะถูกระงับป้ายทะเบียน กลายเป็นรถเถื่อนที่อาจจะถูกจับปรับดำเนินคดีตามกฎหมายนะครับ

3. พ.ร.บ. ขาดต่อ อาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับปรับ

ถ้าเราลืมต่อพ.ร.บ. แต่หากนำรถยนต์หรือรถมอไซค์แบบไม่มี พ.ร.บ. มาขับขี่บนท้องถนน เมื่อถูกตรวจจะอาจจะถูกลงโทษตามกฎหมาย เสียค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาทล่ะครับ ดังนั้น จะให้ดีอย่าปล่อยให้รถของเราขาดต่อพ.ร.บ. เด็ดขาดนะครับ

4. ค่าเบี้ย พ.ร.บ. เริ่มต้นหลักร้อย

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพ.ร.บ. การเตรียมเงินก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่เราต้องรู้ไว้เบื้องต้น และน้องสมหวังก็เตรียมไว้ให้แล้วครับผม ทั้งนี้ น้องสมหวังขออ้างอิงข้อมูลอัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตามตาราง ดังนี้

อัตราเบี้ยประกันภัยภาคบังคับ พ.ร.บ. สำหรับรถส่วนบุคคล

 
ประเภทรถ ขนาดเครื่องยนต์ อัตราค่าเบี้ย เริ่มต้น(บาท/ปี)
รถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 1xx
เกิน 75 ซี.ซี.ไม่เกิน 125 ซี.ซี. 3xx
เกิน 125 ซี.ซี. ไม่เกิน 150 ซี.ซี 4xx
เกิน 150 ซี.ซี. 6xx
รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน 6xx
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ขนาดที่นั่ง ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,xxx
เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,xxx
เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,xxx
เกิน 40 ที่นั่ง 3,xxx

หมายเหตุ : ค่าเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยซึ่งแต่ละบริษัทฯ อาจจะมีราคาแตกต่างกันออกไป

5. พ.ร.บ.คุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุรถชนรถ

กรณีบาดเจ็บจากรถชนหรืออุบัติเหตุ พ.ร.บ.จะเทคแคร์ทันที!! ให้สอบถามแจ้งสิทธิกับโรงพยาบาลครับ พร้อมกับแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น เตรียมเอกสารพ.ร.บ. และบัตรประชาชนของคนเจ็บใช้ยื่นประกอบด้วย โดยความคุ้มครองพ.ร.บ.จะจ่ายตามจริง ! ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้

กรณีเกิดอุบัติเหตุและสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนหน้านี้ เราสามารถเคลมย้อนหลังได้ภายใน 180 วัน ต้องใช้เอกสาร ดังนี้

  • เอกสารค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล หรือใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล และอย่าลืมใบรับรองแพทย์
  • เอกสารหน้าตาราง พ.ร.บ. ใช้ยื่นเคลมค่ารักษาย้อนหลัง
  • เอกสารอื่น ๆ กรณีบริษัทร้องขอเพิ่มเติม เช่น บันทึกประจำวันจากตำรวจ, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาใบขับขี่, สำเนาทะเบียนรถ (ถ้ามี)

สามารถประสานงานส่งเอกสารกับบริษัท ประกันภัยที่เราซื้อ พ.ร.บ. เพื่อขอเบิกค่ารักษาพยาบาล ในเงื่อนไขดังกล่าว เราพูดถึงรายละเอียดการเคลมกรณีบาดเจ็บผู้ป่วยนอก (OPD) นะครับ 

6. เคลมรักษาได้ทันทีแบบไม่ต้องสำรองจ่าย*

การใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น เราสามารถเบิกได้ที่โรงพยาบาล โดยเคลมค่ารักษาพยาบาลได้ภายในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาททุกกรณี (จ่ายค่ารักษาตามจริง) แต่ต้องเตรียมเอกสารให้ครบก่อนเคลมนะ

7. จะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดก็เคลมพ.ร.บ.ได้

เพราะ พ.ร.บ.ให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งจะดูแลค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด โดยไม่รอการพิสูจน์ความรับผิด

  • กรณีบาดเจ็บ พ.ร.บ. จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร พ.ร.บ. คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาทต่อคน
  • กรณีเสียชีวิต คุ้มครองจ่ายค่าปลงศพ  ตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อคน

หากเกิดความเสียหาย หลายกรณีรวมกัน จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาทต่อหนึ่งคนครับ

หลังจากพิสูจน์ถูกผิดแล้ว กรณีเป็นฝ่ายถูกจะได้รับส่วนค่าสินไหมทดแทน (ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) เพิ่มเติม โดยมีความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ พ.ร.บ. จะคุ้มครองค่ารักษาตามจริง ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร 200,000 - 500,000 บาทต่อคน (กรณีสูญเสียอวัยวะเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) ซึ่งจะมีข้อมูลแตกต่างกันนะครับ
  • กรณี เสียชีวิต ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทต่อคน

8. เกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณีก็เคลมค่ารักษาพยาบาลกับพ.ร.บ.ได้

รู้ไหมว่า พ.ร.บ. เช่น รถล้มเอง ชนเสาไฟฟ้า ลื่นไถล อุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนสามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลกับพ.ร.บ.ได้ครับ โดยขั้นตอนการเคลมก็เหมือนกันกับขั้นตอนที่เราเล่ามาข้างต้นเลยล่ะ

9. พ.ร.บ. ไม่ใช่ป้ายวงกลม แต่เป็นเอกสาร

อาจจะมีสับสนอยู่บ้างระหว่าง พ.ร.บ. และป้ายภาษี (ป้ายวงกลม ป้ายสีเหลี่ยม ฯลฯ) น้องสมหวังต้องบอกว่าเอกสารพ.ร.บ. นั้นจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นกระดาษขนาด A4 ครับผม ไม่ใช่ป้ายวงกลมที่ติดบนกระจกรถยนต์ หรือที่ติดบนรถมอเตอร์ไซค์นะครับ นั่นเรียกป้ายภาษี อย่าจำสลับกันนะจ้ะ

10. จะให้สะดวกต้องทำพ.ร.บ. บริษัทฯ เดียวกับประกันภัยรถ

พูดถึงคนขับรถยนต์ หรือคนขับมอเตอร์ไซค์ที่ซื้อประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ถ้าต้องการทำพ.ร.บ. ใช้ต่อภาษีรถจะให้ดี เราควรจะซื้อพ.ร.บ. บริษัทเดียวกับประกันภัยรถยนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการเคลมหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นจะได้ประสานงานเคลมทีเดียว จะได้ไม่ต้องยุ่งยากแจ้งเคลมหลายรอบนั้นเอง ยื่นเอกสารเพียงรอบเดียวก็เพียงพอครับ

11. เราสามารถต่อพ.ร.บ. ล่วงหน้าได้

ถ้าเรากลัวว่าจะขาดต่อพ.ร.บ. เพราะไม่มีเวลา หรือกลัวลืม!! เราสามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือ ภายใน 90 วันครับผม สะดวกสบายสุด ๆ เลยใช่ไหมล่ะ ดังนั้น ใครที่ยุ่ง ๆ งานรัดตัวตลอดเวลาก็ต่อไว้ล่วงหน้าสบายใจกว่าเยอะ

12. พ.ร.บ. ไม่คุ้มครองค่าซ่อมรถ

ถึงจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ พ.ร.บ. เนี้ยะไม่คุ้มครองค่าซ่อมรถ หรือค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุรถชนรถ หรือรถชนคนนะครับผม

ส่วนวงเงินความคุ้มครองค่าซ่อมรถที่เสียหายจากอุบัติเหตุจะอยู่ในประกันรถยนต์ หรือประกันรถจักรยานยนต์เป็นหลักครับ ส่วนใหญ่จะเรียกว่า ประกันภัยภาคสมัครใจ หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อว่า ประกันชั้น 1 ประกันชั้น 2+ หรือประกันชั้น 3+ นั้นแหละครับ เช่น

  • ประกันรถยนต์ “คุ้มครองครบจบทุกภัย” ช่วยดูแลรถของคุณหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งคุ้มครองตามประเภทกรมธรรม์ที่ซื้อไว้นั้นเอง สามารถดูรายละเอียดประกันรถยนต์จากสมหวังกันภัยได้นะครับ
  • ประกันรถจักรยานยนต์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นประกันจะช่วยดูแล

เป็นไงบ้างครับ ? ทำรู้จัก พ.ร.บ. มากขึ้นแล้วว่าจ่ายทุกปีคุ้มครองอะไรบ้าง ดังนั้น อย่าลืมต่อพ.ร.บ. รถด้วยนะคร้าบบบ ด้วยรักและห่วงใยจากน้องสมหวัง

ขอบคุณข้อมูลจาก oic.or.th และ rvp.co.th

ติดต่อเรา

สมหวัง เงินสั่งได้
บริษัท ไฮเวย์ จำกัด (สำนักงานใหญ่)
2046/16 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร 10310
โทรศัพท์ : 02-3087555

ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการ การยินยอมเปิดเผยข้อมูล
ช่องทางการส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์
© สงวนลิขสิทธิ์ 2562 บริษัท ไฮเวย์ จำกัด