ปัจจุบันทางภาครัฐได้มีการปรับเงื่อนไขการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากที่มีการปรับลดค่าภาษี 90% ต่อเนื่องหลายปีเพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนในช่วงโควิดระบาด ล่าสุดในปี 2567 นี้พี่ ๆ ที่เข้าข่ายต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเตรียมตัวให้ดี เพราะภาครัฐจะเริ่มเก็บแบบเต็มอัตรา วันนี้น้องสมหวังมาพร้อมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาฝากทุกคน เพื่อให้พี่ ๆ เข้าใจเงื่อนไขและอัตราการเก็บภาษีอย่างถูกต้อง ติดตามสาระสำคัญได้ในบทความนี้เลย
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ ภาษีที่ดิน คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บแบบรายปีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พี่ ๆ ครอบครองเอาไว้ มีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ปีละ 3% โดยมีหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) เป็นผู้จัดเก็บ เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบล โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ 1 มกราคม 2563
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีกี่ประเภท
ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
ที่ดินเพื่ออยู่การอยู่อาศัย มีเพดานภาษีสูงสุด 0.30% โดยบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดินที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษี หากมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทจะต้องเสียตามอัตราปกติ และผู้ที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน อย่างคอนโด หรือเช่าที่ดินอยู่อาศัย จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก โดยจะต้องจ่ายค่าภาษีส่วนเกินตามที่กำหนด สามารถคิดตามอัตราภาษีได้ดังนี้
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
- ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 25 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
- ที่ดินมูลค่า 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
- ที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย
- ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 40 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02%
- ที่ดินมูลค่า 40 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
- ที่ดินมูลค่า 65 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 90 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
- ที่ดินมูลค่า 90 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยตาม 2 กลุ่มด้านบน
- ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02%
- ที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
- ที่ดินมูลค่า 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
- ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม
ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม มีเพดานภาษีสูงสุด 1.20% ตามอัตราปกติ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงงานอุตสาหกรรม ร้านสะดวกซื้อ อะพาร์ตเมนต์ เป็นต้น สามารถคิดตามอัตราภาษีได้ดังนี้
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย
- ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3%
- ที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4%
- ที่ดินมูลค่า 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
- ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
- ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม มีเพดานภาษีสูงสุด 0.15% หากที่ดินมีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษี สามารถคิดตามอัตราภาษีได้ดังนี้
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรกรรม
- ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.01%
- ที่ดินมูลค่า 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
- ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
- ที่ดินมูลค่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.07%
- ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานภาษีสูงสุด 3% ในกรณีที่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างติดต่อกัน 3 ปีและไปชำระในปีที่ 4 จะถูกเพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก 3 ปี แต่รวมกันทั้งหมดจะได้อัตราภาษีไม่เกิน 3% ของมูลค่าที่ดิน สามารถคิดตามอัตราภาษีได้ดังนี้
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์
- ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3%
- ที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4%
- ที่ดินมูลค่า 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
- ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
- ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
วิธีคิดภาษีที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง
(มูลค่าที่ดิน+มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
หมายเหตุ
- มูลค่าที่เดินคำนวณจาก “ราคาประเมินทุนทรัพย์ต่อ ตร.ว x ขนาดพื้นที่ดิน”
- มูลค่าสิ่งปลูกสร้างคำนวณจาก “(ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ต่อ ตร.ม. x ขนาดสิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา”
วิธีคิดภาษีที่ดินประเภทห้องชุด
มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
หมายเหตุ
มูลค่าห้องชุดคำนวณจาก “ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด ต่อ ตร.ม. x ขนาดพื้นที่ห้องชุด ตร.ม.”
วิธีคิดที่ดินเปล่าที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
หมายเหตุ
มูลค่าที่เดินคำนวณจาก “ราคาประเมินทุนทรัพย์ต่อ ตร.ว x ขนาดพื้นที่ดิน”
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2567 ต้องจ่ายเมื่อไหร่
สำหรับกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 มีการเลื่อนเวลาการจัดเก็บจากเดินภายในเดือนเมษายน เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567 โดยก่อนที่จะมีการชำระทาง อปท. จะทำการส่งแบบประเมินภาษีให้กับประชาชนภายในเดือนเมษายน 2567 ส่วนกำหนดการอื่น ๆ ที่ถูกเลื่อนออกไปด้วยมีดังนี้
1. กำหนดการผ่อนชำระค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- งวดที่ 1 ให้ชำระภายในเดือนมิถุนายน 2567
- งวดที่ 2 ให้ชำระภายในเดือนกรกฎาคม 2567
- งวดที่ 3 ให้ชำระภายในเดือนสิงหาคม 2567
2. กำหนดการแจ้งรายการค้างชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเดินจะต้องแจ้งภายในเดือนมิถุนายน เปลี่ยนเป็นเดือนสิงหาคม 2567
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ผู้ที่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินหรือโฉนดสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน และห้องชุด
- ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สิน ทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของภาครัฐ
- ผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2567 จ่ายออนไลน์ได้ไหม
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพี่ ๆ สามารถเดินทางไปชำระด้วยตัวเอง ตามที่ตั้งขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่ของแต่ละพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการเมืองพัทยา สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น หากพี่ ๆ ไม่สะดวกเดินทางไปชำระด้วยตัวเอง ทางภาครัฐก็มีช่องทางอื่น ๆ อำนวยความสะดวกให้ดังนี้
- ชำระภาษีที่ดินผ่านออนไลน์ เช่น โมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารต่าง ๆ ชำระผ่าน QR Code หรือบาร์โค้ด และโอนผ่านเลขบัญชีที่ อปท. กำหนดให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ
- ชำระภาษีที่ดินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทั้งประเภท VISA และ MasterCard
- ชำระภาษีที่ดินผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย หรือไปชำระที่ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขา
- ชำระภาษีไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เช่น ชำระด้วยเช็คเงินสด ธนาณัติ และตั๋วแลกเงิน
การเลี่ยงจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีโทษปรับเท่าไหร่
หากทางภาครัฐพบว่า พี่ ๆ พยายามหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยการแจ้งข้อมูลเท็จ ต้องระวังโทษทางอาญา จำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับสูงสุด 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในกรณีจ่ายล่าช้าก็จะมีบทลงโทษที่ต่างกันดังนี้
1. เบี้ยปรับจากการไม่ชำระตามเวลาที่กำหนด
- ไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่ชำระก่อนได้รับหนังสือเตือน เสียเบี้ยปรับ 10%
- ไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่ชำระตามเวลาที่แจ้งในหนังสือเตือน เสียเบี้ยปรับ 20%
- ไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนด และได้รับหนังสือเตือน เสียเบี้ยปรับ 40%
2. ดอกเบี้ยจากการชำระภาษีที่ดินล่าช้า
คิดเพิ่มในอัตรา 1% ต่อเดือน เริ่มคิดเมื่อพ้นกำหนดวันชำระภาษีที่ดินจนถึงวันที่ดำเนินการชำระ โดยมีการควบคุมเพดานดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ
สรุปเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
มาถึงตรงนี้หวังว่าพี่ ๆ จะเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันมากขึ้น ใครที่รู้ตัวว่ามีที่ดินและบ้านที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีที่ดินตามที่ภาครัฐกำหนด น้องสมหวังแนะนำให้วางแผนการชำระเงินให้ดี เพื่อให้การครอบครองทรัพย์สินของพี่ ๆ ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับใครที่กำลังต้องการเงินก้อนไว้ใช่ฉุกเฉิน ปรึกษาเจ้าหน้าที่สมหวัง เงินสั่งได้ ก่อนเกี่ยวกับสินเชื่อที่ดินก่อนได้เลย ผ่านไลน์ @somwang หรือโทรมาคุยกันที่เบอร์ 02-123-4000 ได้ทันที น้องสมหวังยินดีให้คำปรึกษาทุกปัญหาการเงินฟรีครับผม
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง, itax